SMEs จะสร้างความสามารถในการแข่งขัน ด้วยการบริหารคนได้อย่างไร (1/2)
ความแตกต่างในการบริหารทรัพยากรมนุษย์ในธุรกิจ SMEs และธุรกิจขนาดใหญ่ นั้นจะเป็นความรู้ หรือกรอบความคิดเบื้องต้นในการให้มุมมองให้กับผู้ประกอบการที่กำลังคิดจะเพิ่มขีดความสามารถทางการแข่งขันให้กับธุรกิจ ก่อนที่วางกลยุทธ์ในการจัดการทรัพยากรมนุษย์ เพื่อสร้างความสามารถในการแข่งขันต่อไป
ที่มาและความสำคัญ
ในอดีต ธุรกิจต่างๆ นั้นสร้างความได้เปรียบทางการแข่งขันกันโดยให้ความสำคัญด้านเทคโนโลยีและเงินทุน แต่ในปัจจุบันเทคโนโลยีต่างๆ สามารถลอกเลียนกันได้โดยง่าย ส่วนเงินทุนนั้นก็มีเครื่องทางการเงินรูปแบบที่สะดวกในการระดมทุนมากยิ่งขึ้น ดังนั้นธุรกิจจึงต้องมองหาการสร้างความได้เปรียบทางการแข่งขันด้วยการแสวงหากลยุทธ์ที่ยากจะลอกเลียนแบบได้โดยง่าย นั่นก็คือ การพัฒนาทรัพยากรมนุษย์
เนื่องจากการบริหารทรัพยากรมนุษย์เป็นกลยุทธ์สำคัญที่จะสร้างความได้เปรียบทางการแข่งขันในระยะยาว ซึ่งความรู้ ทักษะ ความสามารถ ศักยภาพ โดยเฉพาะความจงรักภักดีที่มีต่อองค์กรนั้นเป็นสิ่งที่ไม่สามารถลอกเลียนแบบ และ ถ่ายโอนไปสู่องค์กรอื่นได้ ทรัพยากรมนุษย์จึงเป็นปัจจัยสำคัญในการสร้างขีดความสามารถ ขยายศักยภาพให้กับองค์กร โดยเฉพาะธุรกิจ SMEs
“ข้อมูลจากการศึกษาพบว่า การอยู่รอดของธุรกิจครอบครัวที่สามารถส่งต่อไปสู่รุ่นที่ 3 นั้นมีจำนวนต่ำกว่าร้อยละ 10″
และด้วยข้อจำกัดของ SMEs ที่ขาดแคลนทรัพยากรต่างๆ มากกว่าธุรกิจขนาดใหญ่ ซึ่งมีความพร้อมทั้งระบบการบริหารงาน เงินทุน และบุคลากร ดังนั้นการบริหารทรัพยากรมนุษย์อย่างเหมาะสม และสอดคล้องกับบริบทขององค์กร ทั้งด้านกลยุทธ์ทางธุรกิจ สภาพแวดล้อม ลักษณะเฉพาะ และความสามารถขององค์กร จึงเป็นสิ่งที่ควรพิจารณาในการบริหารทรัพยากรมนุษย์เพื่อสร้างความสามารถในการแข่งขันของธุรกิจ โดยผู้ประกอบการต้องใช้จุดแข็งที่มีความยืดหยุ่นในการปรับตัวต่อความเปลี่ยนแปลงได้ดีกว่าธุรกิจขนาดใหญ่ และใช้บทบาทในการเป็นผู้นำความเปลี่ยนแปลง (Change Agent) เพื่อการบริหารทรัพยากรมนุษย์ในกลยุทธ์เชิงรุกมากขึ้น โดยคำนึงถึงสภาพแวดล้อมทางธุรกิจที่เปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว
ความแตกต่างในการบริหารทรัพยากรมนุษย์ในธุรกิจ SMEs และธุรกิจขนาดใหญ่
1. ทรัพยากรด้านการเงินและทางกายภาพที่จำกัดของธุรกิจ SMEs
ซึ่งมีทรัพยากรด้านการเงินและความสามารถในการเข้าถึงแหล่งเงินทุนได้ยากกว่าธุรกิจขนาดใหญ่ ทำให้การบริหารทรัพยากรมนุษย์ในธุรกิจ SMEs ต้องพิจารณาอย่างระมัดระวัง โดยคำนึงถึงความสมดุลระหว่าง การควบคุมต้นทุนในการผลิต และความพึงพอใจของพนักงานซึ่งการบริหารทรัพยากรมนุษย์ในธุรกิจขนาดใหญ่จะเกิดความประหยัดต่อขนาด เช่น การจัดสวัสดิการต่างๆ ให้กับพนักงานจำนวนมากก็มีต้นทุนเฉลี่ยต่อพนักงานต่ำกว่าธุรกิจ SMEs อย่างไรก็ตาม จากการศึกษาพบว่า ผู้ประกอบการธุรกิจ SMEs ที่มีพนักงานจำนวนที่น้อย จะให้ความสำคัญกับความพึงพอใจในการทำงานของพนักงานมากกว่าธุรกิจที่มีพนักงานจำนวนมาก (Arzu Safak Uyar, 2012)
2. ความสัมพันธ์ระหว่างเจ้าของกิจการและพนักงาน
ธุรกิจขนาดใหญ่จะมีการจัดองค์กรที่เป็นทางการ มีสายบังคับบัญชาที่ชัดเจน มีฝ่ายที่รับผิดชอบงานบริหารทรัพยากรมนุษย์ในองค์กร จำนวนบุคลากรที่มีจำนวนมากทำให้เจ้าของกิจการไม่ได้คลุกคลีกับพนักงานเป็นรายบุคคล ส่วนธุรกิจ SMEs ที่มีพนักงานจำนวนน้อย เจ้าของกิจการมักเป็นผู้มีบทบาทอย่างมากในการบริหารคน มีความใกล้ชิดสนิทสนมกับพนักงาน ความสัมพันธ์อย่างไม่เป็นทางการ ทำให้มีความเป็นอิสระและคล่องตัวในการให้ผลตอบแทน รวมถึงการเอาใจใส่ความเป็นอยู่ของพนักงานและแก้ไขปัญหาได้ตรงกับความต้องการของพนักงาน จึงเป็นจุดแข็งของธุรกิจ SMEs ที่จะใช้ความสัมพันธ์เชื่อมโยงกับแรงจูงใจในการทำงานให้พนักงานเกิดความภักดีต่อองค์กร
“แต่ในขณะเดียวกันรูปแบบการบริหารงานที่ไม่เป็นทางการของธุรกิจ SMEs กลับทำให้ธุรกิจ SMEs ซึ่งส่วนใหญ่เป็นธุรกิจครอบครัว ไม่สามารถส่งต่อธุรกิจไปยังรุ่นที่ 2 และรุ่นที่ 3 ได้”
ดังนั้น การสร้างธุรกิจให้เป็นสถาบัน (Institutionalization) จึงเป็นวิธีการที่จะขจัดอุปสรรคในการอยู่รอดระยะยาว เพื่อให้ธุรกิจครอบครัวสามารถปรับตัวต่อการเปลี่ยนแปลง และสามารถส่งต่อให้รุ่นต่อไปในอนาคตได้
3. การแบ่งงานกันทำ
เนื่องจากธุรกิจ SMEs มีข้อจำกัดทั้งทางด้านการเงิน รวมทั้งปริมาณงานบางตำแหน่งน้อย อาจเกิดการว่างงานแฝง ถ้าหากจะต้องแบ่งแยกงานตามตำแหน่ง ดังนั้น พนักงานในธุรกิจ SMEs จึงมักต้องทำงานหลากหลายหน้าที่ จึงไม่สามารถแบ่งแยกงานเป็นฝ่ายให้ทำงานเฉพาะด้านเฉพาะหน้าที่ได้อย่างชัดเจนเหมือนธุรกิจขนาดใหญ่ ข้อดีคือ พนักงานแต่ละคนสามารถทำงานแทนกันได้ และมีทักษะ ความชำนาญที่หลากหลาย
4.การคำนึงถึงผลประโยชน์ระยะยาวมากกว่าระยะสั้น
เนื่องจาก SMEs ส่วนใหญ่เป็นธุรกิจครอบครัว ซึ่งเจ้าของกิจการมักทำหน้าที่บริหารงานด้วยตัวเอง จึงมักคำนึงถึงผลประโยชน์ระยะยาวมากกว่าการคำนึงถึงผลประโยชน์ของผู้ถือหุ้น ซึ่งเป็นผลประโยชน์ระยะสั้น
“ดังนั้น การบริหารทรัพยากรมนุษย์ของธุรกิจ SMEs จึงเป็นระบบปิด ที่พยายามรักษาพนักงานให้อยู่กับองค์กรในระยะยาว”
และมักไม่ค่อยมีผู้บริหารมืออาชีพจากภายนอกครอบครัวเข้ามาเป็นผู้บริหารระดับสูง อีกทั้งสภาพแวดล้อมในการทำงานของธุรกิจ SMEs ก็ไม่จูงใจให้ผู้บริหารภายนอกเข้ามาบริหารเหมือนธุรกิจขนาดใหญ่อีกด้วย
5.ความยืดหยุ่นของการปรับตัวในการบริหารความเปลี่ยนแปลง
การบริหารความเปลี่ยนแปลงเป็นส่วนหนึ่งในการสร้างความสามารถในการแข่งขันได้อย่างยั่งยืน ธุรกิจ SMEs มีขนาดของเงินทุนน้อยและการใช้เทคโนโลยีไม่ซับซ้อน มีสายบังคับบัญชาสั้น เกี่ยวข้องกับคนในองค์กรไม่มากนัก จึงมีความสามารถในการปรับตัวต่อความเปลี่ยนแปลงที่เกิดจากภายนอกได้คล่องตัวกว่าธุรกิจขนาดใหญ่ที่มีโครงสร้างซับซ้อนและเกี่ยวข้องกับคนจำนวนมาก
“ความยืดหยุ่นในการปรับตัวต่อความเปลี่ยนแปลงได้อย่างรวดเร็วจึงเป็นจุดแข็งของธุรกิจ SMEs ซึ่งรวมถึงกลยุทธ์ในการบริหารทรัพยากรมนุษย์“
ดังนั้น ผู้ประกอบการจึงต้องมีบทบาทในด้านกลยุทธ์การบริหารทรัพยากรมนุษย์โดยการเป็นผู้นำการเปลี่ยนแปลง (Change Agent)
#HRfreelance #HRConsultant #ที่ปรึกษาHR #SME #SMEs #ที่ปรึกษาSME
_________________________________________________________________________________
อ้างอิง : การบริหารทรัพยากรมนุษย์เพื่อสร้างความสามารถในการแข่งขันของวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (SMEs)
ที่มา : https://so02.tci-thaijo.org/index.php/JournalGradVRU/article/view/97780
_________________________________________________________________________________
บทความโดย : สุคนธา เปลี่ยนรูป
HR freelance : HR Consultant